ความเป็นมาของกิจกรรมชั่วโมงเรียนรู้หรรษา

ศูนย์เรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 มีบทบาทในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับบุคลากรและประชาชนโดยมีกิจกรรมชั่วโมงเรียนรู้หรรษา ณ ห้องประชุมของศูนย์เรียนรู้ โดยครั้งแรกกำหนดการเรียนรู้ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ครั้งละ 60 นาที มีหัวข้อเรียนรู้ที่แตกต่างกันดังนี้วันจันทร์:สุขภาพ วันอังคาร:สติ วันพุธ: ความสุข วันพฤหัสบดี: เทคโนโลยี และวันศุกร์: ฟื้นฟูสมอง ซึ่งช่วงแรกจัดทุกวันมีบุคลากรเข้าร่วมเรียนรู้จำนวน 8-10 คนต่อครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน บุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมน้อยลง เป็นจำนวน 3-5 คนหรือบางวันไม่มีคนมาเรียนเลย ดังนั้นในเดือนตุลาคม 2563ศูนย์เรียนรู้ได้ศึกษาและแก้ปัญหาโดยการปรับเวลาเรียนรู้เหลือเพียง 12.30 – 13.30 น. และปรับหัวข้อการเรียนรู้ให้เหมือนกันในแต่ละวันของสัปดาห์ ซึ่งพบว่า จำนวนผู้เรียนเพิ่มขี้นบ้าง แต่ต้นปี 2564 สถานการณ์โควิดเริ่มระบาดหนัก ทางองค์กรมีการปรับบริการและบุคลากรเพื่อรับมือกับสถานการณ์บุคลากรเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมได้น้อยลง และไม่มาที่ศูนย์เรียนรู้เลย และต่อมาองค์กรยกเลิกการจัดกิจกรรมทุกอย่างในห้องประชุมตั้งแต่เดือนเมษายนทำให้ศูนย์เรียนรู้ ต้องปรับตัวเช่นกัน
เป้าหมาย
เพื่อให้มีกิจกรรมเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย จำนวน 20 คน / ครั้ง ภายในปี 2564 และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขด้วย
กระบวนการ
- จัดผ่านระบบ Online
- เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
- จัดสม่ำเสมอทุกวัน
- ช่วง 12.30 – 13.00 น.
- แลกเปลี่ยนต่อเนื่องในกลุ่ม Line
- มีการสะสมดาวเรียนรู้
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เฉลี่ย 20 คนต่อวัน
- ความพึงพอใจโดยรวม ร้อยละ 100 (เฉพาะเรื่อง 84 -100 %)
- สร้างทีมสหวิชาชีพให้เป็นวิทยากร 18 คน และมีสมาชิกในกลุ่มLine “เรียนรู้ สร้างสุข” 224 คน (ทั้งองค์กร 574 คน) และบางเรื่องมีการแลกเปลี่ยนในกลุ่ม Line มากกว่า 10 คน
- ด้านการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึก
- “การเรียนรู้ทำได้ตลอดเวลา รู้สึกสนุกในการเรียน กล้าแสดงความคิดเห็น ได้นำความรู้ไปใช้กับตนเอง และเผยแพร่สู่ผู้อื่น และเป็นแรงบันดาลใจ ให้ผู้อื่นเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน”
- “มีกิจกรรมทำในแต่ละวัน ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาว่างเหมือนแต่ก่อนและมีสมาธิมากขึ้น”
- “เปลี่ยนมุมมอง จากมองแค่จุดเล็กๆเป็นมุมมองโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น เปลี่ยนเวลากินข้าวที่นั่งโม้ไร้สาระและจำเจเป็นช่วงเวลาที่สนุกและท้าทาย”
- “รับรู้ตัวเอง ต้องการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นในการดูแลทั้งกายและใจ”
- “มีความสุขมีความรู้สึกดีขึ้น”
ปัจจัยความสำเร็จ
- ยึดผู้เรียนเป็นหลัก (ผ่านZoom การปรับเวลาเรียน)
- ทำช่องการเรียนรู้ให้ง่าย (Zoom Link เดิมและจัดทุกวัน)
- ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ได้ร่วมแลก เปลี่ยนทั้ง Zoom และกลุ่ม Line มีการเก็บดาวเรียนรู้
- เกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อปรับกระบวนการตลอดเวลา
บทเรียนที่ได้รับ
เมื่อพบปัญหาการเข้าเรียนรู้ของบุคลากรในยุค New normal ให้ยึดตัวบุคลากรเป็นสำคัญ และปรับวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสม โดยนำเทคโนโลยี (Zoom หรือ Line) ใช้เวลาพัก และนำผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ในองค์กร มาบูรณาการใช้ร่วมกัน ศูนย์เรียนรู้มีบทบาทในการจัดการให้ได้ตาม เป้าหมายคือ ทำให้บุคลากรเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง และมีความสุขในช่วงโควิดได้
สิ่งที่จะทำต่อ
เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญภายในให้เป็นวิทยากร และเพิ่มจำนวนสมาชิกกลุ่ม Line “เรียนรู้ สร้างสุข” เชิญบุคลากรภายนอกมาเป็นวิทยากร และเชิญเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรมให้มากขึ้น
